การฝึกอบรมหลักสูตรจิตอาสา 904 “หลักสูตรพื้นฐาน” (ภาค 1)

การฝึกอบรมหลักสูตรจิตอาสา 904 “หลักสูตรพื้นฐาน” (ภาค 1)


วันที่ 9 เม.ย. 2567 ณ ศูนย์ฝึกจิตอาสา ภาค 1 ค่ายพระรามหก อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี พล.ท.ชิษณุพงศ์ รอดศิริ แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน ภาค 1 เป็นประธานในพิธีปิด การฝึกอบรมหลักสูตรจิตอาสา 904 “หลักสูตรพื้นฐาน” (ภาค 1) รุ่นที่ 4/67 โดยมี พล.ต.ท.นัยวัฒน์ ผะเดิมชิต ผบช.ภ.7 เป็นผู้แทน ตร. พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ คณะครูฝึก และผู้รับการฝึกอบรม จำนวน 200 คน เข้าร่วมพิธี ภายใต้มาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดย พล.ท.ชิษณุพงศ์์ได้กล่าวน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานหลักสูตร “จิตอาสา 904” ขึ้น ผู้ผ่านการฝึกอบรมทั้ง 200 คนได้รับพระราชทานหมวก ผ้าพันคอ ประกาศนียบัตร
พร้อมทั้งเครื่องหมายหลักสูตรจิตอาสา 904 “หลักสูตรพื้นฐาน” อันเป็นเครื่องหมายแสดงความสามารถที่มีเกียรติทั้งต่อตนเองและวงศ์ตระกูล ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้


การฝึกอบรมหลักสูตรจิตอาสา 904 “หลักสูตรพื้นฐาน” (ภาค 1) รุ่นที่ 4/67 ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 มี.ค. ถึงวันที่ เม.ย. 2567 โดยคัดเลือกผู้รับการฝึกอบรมจาก 26 จังหวัดภาคกลาง จำนวน 200 คน ประกอบด้วย ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ซึ่งในการฝึกอบรมรุ่นนี้เป็นรุ่นแรกที่ได้คัดเลือกเยาวชนคนรุ่นใหม่เข้ามาฝึกอบรมด้วย จำนวน 111 คน เพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่สังคม มีจิตสาธารณะ ทำความดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เป็นกำลังหลักในการทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และประเทศชาติ ซึ่งตลอดหลักสูตร ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศ   

หลังจากนี้ผู้ผ่านการฝึกอบรมทุกคนจะมีภารกิจที่สำคัญยิ่งที่จะต้องเสียสละเพื่อทำหน้าที่เป็นจิตอาสา
904 ในการสร้างความรัก ความสามัคคี เทิดทูนสถาบันหลักของชาติ เป็นแกนนำให้จิตอาสาทั่วไป เพื่อเป็นที่พึ่งของประชาชน และสร้างความร่วมมือในการทำประโยชน์ให้สังคมส่วนรวม ช่วยเหลือผู้อื่น
และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ตลอดจนได้นำความรู้ความเข้าใจในแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อันเป็นการสนองพระบรม
ราโชบายของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ไปพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป ดังพระราชปณิธานความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุขแก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”